![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhx6FVi61p6h8o0YKrG_8YxbA48txHzRlu0XsqU5O3t-VmmfJ-6APmIbSb3LxjuP454xnmBpTkylCa19IOyZyb8h5Dv8hQR-_EMngC-G7rxqwNuyR-xC9CYbh9ycBFo_Qg1iZnvCGiTcqSJ/s400/gaudi_03.gif)
อันโตนีโอ เกาดี (Antonio Gaudi)
สถาปนิกแนวนวศิลป์ผู้ยิ่งใหญ่ของสเปน
เกาดีออกแบบทุกสิ่งอย่างประณีตงดงาม ตามแบบอาร์ตนูโว ตั้งแต่ผนัง เสา คาน กระจกเงา กรอบประตูหน้าต่าง รวมทั้งพยายามลบเหลี่ยมมุมที่ดูแข็งกระด้างลง เขาออกแบบโต๊ะเก้าอี้ไม้โอ๊ก ที่มีรูปทรงแปลกตา เพื่อให้สัมพันธ์กับการตกแต่งภายใน และรูปลักษณ์ภายนอก อพาร์ตเมนต์ที่น่าสนใจยิ่งอีกแห่งหนึ่งคือ Casa Batllo' (ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๙๐๖) สันนิษฐานกันว่าเกาดีคงได้รับแรงบันดาลใจมาจากสัตว์นานาชนิด เพราะเมื่อมองโดยรวม อาคารหลังนี้จะแลดูคล้ายช้างขนาดใหญ่ แต่ส่วนหลังคากลับคล้ายกระดูกไดโนเสาร์ ด้านหน้าเหมือนสัตว์เล็ก ๆ หลายชนิด มีระเบียงคล้ายรังนกบนหน้าผา แต่ตกแต่งด้วยราวกลม ๆ คล้ายก้างปลา ด้านหน้าอาคารหลังนี้ไม่มีขอบคม และมุมที่ตัดกันเป็นมุมฉาก ทำให้ดูอ่อนนุ่มเหมือนหนังงู
เช่นเดียวกับอาคารขนาดใหญ่ Casa mila' (ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๐) ที่มีรูปแบบเฉพาะ โดดเด่น เต็มไปด้วยจินตนาการฝันเฟื่องแต่ผสานกันอย่างกลมกลืน รูปลักษณ์ของอาคารนี้ คล้ายกับถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวแอฟริกัน ด้านหน้าเหมือนรวงผึ้งขนาดใหญ่ ที่มีเส้นโค้งเป็นคลื่นเหมือนงูเลื้อย การออกแบบอาคารของเกาดีในลักษณะที่ว่านี้ ถือว่าก้าวหน้ามาก เพราะในยุคสมัยนั้นรูปแบบของอาคารเช่นนี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อน
พัฒนาการทางแนวคิดและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเกาดี ปรากฏชัดในผลงานชิ้นยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งก็เป็นผลงานที่ยังสร้างไม่เสร็จมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ ซากราดา ฟามิลิยา โบสถ์ขนาดใหญ่ที่สร้างตามแนวทางของศิลปะกอทิกในอดีต แต่มีรูปแบบเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เกาดีปรับโครงสร้างอาคารเก่า ที่สร้างขึ้นเมื่อร้อยปีมาแล้วให้เป็นโบสถ์สมัยใหม่ขนาดใหญ่ บรรจุนักร้องได้ถึง ๑,๕๐๐ คน เด็ก ๗๐๐ คน และออร์แกนอีก ๗ ตัว โบสถ์แห่งนี้สำเร็จแล้วในใจของเกาดีพร้อมแบบร่าง นับเป็นโบสถ์ที่สง่างามอย่างยิ่ง ประกอบด้วยหอสูงตรงกลาง และรายล้อมด้วยหอบริวาร ๔ หอ ได้แก่ St. Peter, St. Judac, St. Matthew และ St. Barnabas แต่ละหลังสูงกว่า ๓๐๐ ฟุต นอกจากนี้ยังมีหอระฆังที่สูง ๑๐๕ ฟุตรายล้อมอีกเป็นจำนวนมาก ทุกส่วนของอาคารตกแต่งด้วยประติมากรรม เรื่องราวของพระเยซูและสาวก
โบสถ์แห่งนี้ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองบาร์เซโลนา หากยังเป็นที่พำนักสุดท้ายของเกาดี สถาปนิกชาวบาร์เซโลนาผู้ยิ่งใหญ่ด้วย
แม้เกาดีจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้รับการยกย่อง และเป็นที่รักของผู้คน โดยเฉพาะชาวเมืองบาร์เซโลนา ทว่าเกาดีก็คล้ายกับศิลปินที่มีความคิดก้าวหน้าล้ำยุคทั่วไป ที่มักจะมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น ชอบทำตัวโทรม ๆ มอซอ ชอบใส่รองเท้าใช้แล้ว โดยให้เหตุผลว่าใส่สบายกว่ารองเท้าใหม่ ๆ ชอบคลุกคลีกับคนยากคนจน และใช้ชีวิตเรียบง่ายธรรมดา
วันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ เกาดีในวัย ๗๔ ปี เดินออกกำลังกายจากบ้าน เพื่อไปสวดมนต์ยังโบสถ์เซนต์ฟิลลิป เนริ (St. Phillipp Neri) ตามปรกติ ระหว่างทาง เขาถูกรถรางชนจนล้มลงหมดสติ อาจด้วยสภาพซอมซ่อของเขา จึงไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นสถาปนิกชั้นนำของบาร์เซโลนา แม้แต่คนขับแท็กซี่ ยังปฏิเสธที่จะรับชายที่แต่งกายโทรม ๆ ไปส่งยังโรงพยาบาล (ภายหลังคนขับรถแท็กซี่ถูกลงโทษ) กว่าที่เกาดีจะถูกนำส่งโรงพยาบาล ก็มีอาการสาหัสมากแล้ว และเสียชีวิตลงในอีกห้าวันถัดมา นั่นเป็นบทสุดท้ายในชีวิตของสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ เช้าวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๖ ชาวบาร์เซโลนาเดินตามขบวนศพของเกาดี ยาวประมาณครึ่งไมล์ จากโรงพยาบาลซางตาครูส บริเวณเมืองเก่า ไปยังโบสถ์ซากราดา ฟามิลิยา (Sagrada Familia) ขณะที่ประชาชนอีกนับพันคน ยืนเรียงรายกันสองฟากถนนยาวสองไมล์ครึ่ง เพื่อแสดงความรักและความอาลัยต่อเกาดีเป็นครั้งสุดท้าย
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEip_Zs5Bl-Q7tfJRYnmpEABz3pZ_gaswqv59W7Vkjg4_EvydvdIDFhibh1wgYpKCeXcUL7RnLxZWJQEN2zxxXcWwtDn2iezXTxMsorCO5QfbpJ0AKA-POdO-9PHLnoJtEwv8JUeyEwvt7xF/s400/gaudi_01.gif)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น