วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อันโตนีโอ เกาดี (Antonio Gaudi)




อันตนีโอ เกาดี (Antonio Gaudi)

สถาปนิกแนวนวศิลป์ผู้ยิ่งใหญ่ของสเปน


เกาดีออกแบบทุกสิ่งอย่างประณีตงดงาม ตามแบบอาร์ตนูโว ตั้งแต่ผนัง เสา คาน กระจกเงา กรอบประตูหน้าต่าง รวมทั้งพยายามลบเหลี่ยมมุมที่ดูแข็งกระด้างลง เขาออกแบบโต๊ะเก้าอี้ไม้โอ๊ก ที่มีรูปทรงแปลกตา เพื่อให้สัมพันธ์กับการตกแต่งภายใน และรูปลักษณ์ภายนอก อพาร์ตเมนต์ที่น่าสนใจยิ่งอีกแห่งหนึ่งคือ Casa Batllo' (ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๙๐๖) สันนิษฐานกันว่าเกาดีคงได้รับแรงบันดาลใจมาจากสัตว์นานาชนิด เพราะเมื่อมองโดยรวม อาคารหลังนี้จะแลดูคล้ายช้างขนาดใหญ่ แต่ส่วนหลังคากลับคล้ายกระดูกไดโนเสาร์ ด้านหน้าเหมือนสัตว์เล็ก ๆ หลายชนิด มีระเบียงคล้ายรังนกบนหน้าผา แต่ตกแต่งด้วยราวกลม ๆ คล้ายก้างปลา ด้านหน้าอาคารหลังนี้ไม่มีขอบคม และมุมที่ตัดกันเป็นมุมฉาก ทำให้ดูอ่อนนุ่มเหมือนหนังงู


เช่นเดียวกับอาคารขนาดใหญ่ Casa mila' (ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๐) ที่มีรูปแบบเฉพาะ โดดเด่น เต็มไปด้วยจินตนาการฝันเฟื่องแต่ผสานกันอย่างกลมกลืน รูปลักษณ์ของอาคารนี้ คล้ายกับถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวแอฟริกัน ด้านหน้าเหมือนรวงผึ้งขนาดใหญ่ ที่มีเส้นโค้งเป็นคลื่นเหมือนงูเลื้อย การออกแบบอาคารของเกาดีในลักษณะที่ว่านี้ ถือว่าก้าวหน้ามาก เพราะในยุคสมัยนั้นรูปแบบของอาคารเช่นนี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อน


พัฒนาการทางแนวคิดและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเกาดี ปรากฏชัดในผลงานชิ้นยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งก็เป็นผลงานที่ยังสร้างไม่เสร็จมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ ซากราดา ฟามิลิยา โบสถ์ขนาดใหญ่ที่สร้างตามแนวทางของศิลปะกอทิกในอดีต แต่มีรูปแบบเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เกาดีปรับโครงสร้างอาคารเก่า ที่สร้างขึ้นเมื่อร้อยปีมาแล้วให้เป็นโบสถ์สมัยใหม่ขนาดใหญ่ บรรจุนักร้องได้ถึง ๑,๕๐๐ คน เด็ก ๗๐๐ คน และออร์แกนอีก ๗ ตัว โบสถ์แห่งนี้สำเร็จแล้วในใจของเกาดีพร้อมแบบร่าง นับเป็นโบสถ์ที่สง่างามอย่างยิ่ง ประกอบด้วยหอสูงตรงกลาง และรายล้อมด้วยหอบริวาร ๔ หอ ได้แก่ St. Peter, St. Judac, St. Matthew และ St. Barnabas แต่ละหลังสูงกว่า ๓๐๐ ฟุต นอกจากนี้ยังมีหอระฆังที่สูง ๑๐๕ ฟุตรายล้อมอีกเป็นจำนวนมาก ทุกส่วนของอาคารตกแต่งด้วยประติมากรรม เรื่องราวของพระเยซูและสาวก


โบสถ์แห่งนี้ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองบาร์เซโลนา หากยังเป็นที่พำนักสุดท้ายของเกาดี สถาปนิกชาวบาร์เซโลนาผู้ยิ่งใหญ่ด้วย

แม้เกาดีจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้รับการยกย่อง และเป็นที่รักของผู้คน โดยเฉพาะชาวเมืองบาร์เซโลนา ทว่าเกาดีก็คล้ายกับศิลปินที่มีความคิดก้าวหน้าล้ำยุคทั่วไป ที่มักจะมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น ชอบทำตัวโทรม ๆ มอซอ ชอบใส่รองเท้าใช้แล้ว โดยให้เหตุผลว่าใส่สบายกว่ารองเท้าใหม่ ๆ ชอบคลุกคลีกับคนยากคนจน และใช้ชีวิตเรียบง่ายธรรมดา


วันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ เกาดีในวัย ๗๔ ปี เดินออกกำลังกายจากบ้าน เพื่อไปสวดมนต์ยังโบสถ์เซนต์ฟิลลิป เนริ (St. Phillipp Neri) ตามปรกติ ระหว่างทาง เขาถูกรถรางชนจนล้มลงหมดสติ อาจด้วยสภาพซอมซ่อของเขา จึงไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นสถาปนิกชั้นนำของบาร์เซโลนา แม้แต่คนขับแท็กซี่ ยังปฏิเสธที่จะรับชายที่แต่งกายโทรม ๆ ไปส่งยังโรงพยาบาล (ภายหลังคนขับรถแท็กซี่ถูกลงโทษ) กว่าที่เกาดีจะถูกนำส่งโรงพยาบาล ก็มีอาการสาหัสมากแล้ว และเสียชีวิตลงในอีกห้าวันถัดมา นั่นเป็นบทสุดท้ายในชีวิตของสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ เช้าวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๖ ชาวบาร์เซโลนาเดินตามขบวนศพของเกาดี ยาวประมาณครึ่งไมล์ จากโรงพยาบาลซางตาครูส บริเวณเมืองเก่า ไปยังโบสถ์ซากราดา ฟามิลิยา (Sagrada Familia) ขณะที่ประชาชนอีกนับพันคน ยืนเรียงรายกันสองฟากถนนยาวสองไมล์ครึ่ง เพื่อแสดงความรักและความอาลัยต่อเกาดีเป็นครั้งสุดท้าย